อำนาจหน้าที่สภาเกษตรกรแห่งชาติ
มาตรา ๑๑ สภาเกษตรกรแห่งชาติมีอำนาจหน้าที่ ดังต่อไปนี้
(๑) เสนอต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อกำหนดนโยบายการส่งเสริม และการพัฒนาความเข้มแข็งแก่
เกษตรกรและองค์กรเกษตรกร ตามแนวปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงการผลิต การแปรรูป การตลาด และการคุ้มครองพื้นที่เกษตรกรรม
(๒) เสนอต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อกำหนดนโยบายและแนวทางการส่งเสริมและการพัฒนาการทำเกษตรแบบผสมผสาน ระบบวนเกษตร ระบบเกษตรธรรมชาติ ระบบไร่นาสวนผสม ระบบเกษตรอินทรีย์ และเกษตรกรรมรูปแบบอื่น
(๓) ให้คำปรึกษาและข้อเสนอต่อคณะรัฐมนตรีในการแก้ไขปัญหาของเกษตรกร การพัฒนา
เกษตรกรรม รวมทั้งการอนุรักษ์และการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
(๔) เสนอแผนแม่บทต่อคณะรัฐมนตรี
(๕) เสนอต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อกำหนดแนวทางการส่งเสริมและสนับสนุนการวิจัยและพัฒนาองค์
ความรู้ทางด้านพันธุกรรมพืชและสัตว์ท้องถิ่น ผลผลิตทางการเกษตรกรรม และผลิตภัณฑ์ที่ได้จากการแปรรูปผลผลิตทางการเกษตรกรรม
(๖) เสนอต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อกำหนดแนวทางการประกันความเสี่ยงของราคาและผลผลิตทาง
เกษตรกรรม รวมทั้งกำหนดสวัสดิการให้แก่เกษตรกร
(๗) เสริมสร้างความร่วมมือและประสานงานกับภาครัฐ และเอกชนทั้งในประเทศและต่างประเทศ
และองค์กรระหว่างประเทศ เพื่อพัฒนาเกษตรกรรม
(๘) พัฒนาและเสริมสร้างความเข้มแข็งแก่เกษตรกรและองค์กรเกษตรกร
(๙) ให้ความเห็นต่อนโยบาย กฎหมาย หรือข้อตกลงที่เกี่ยวข้องและมีผลกระทบต่อเกษตรกร
(๑๐) ให้คำปรึกษา และข้อแนะนำแก่เกษตรกรองค์กร ตามที่สภาเกษตรกรจังหวัดเสนอ
(๑๑) แต่งตั้งคณะกรรมการ คณะอนุกรรมการคณะทำงาน หรือที่ปรึกษาตามจำเป็น
(๑๒) ปฏิบัติการอื่นใดตามที่กฎหมายกำหนดให้เป็นอำนาจหน้าที่ของสภาเกษตรกรแห่งชาติ หรือตามที่คณะรัฐมนตรีมอบหมาย
อำนาจหน้าที่สภาเกษตรกรจังหวัด
มาตรา 33 สภาเกษตรกรจังหวัดมีอำนาจหน้าที่ ดังต่อไปนี้
(๑) พัฒนาและเสริมสร้างความเข้มแข็งแก่เกษตรกรและองค์กรเกษตรกรภายในจังหวัด
(๒) ประสานนโยบายและการดำเนินงานระหว่างองค์กรเกษตรกร เกษตรกร สถาบันวิจัย สภาบัน การศึกษา และหน่วยงานของรัฐ
(๓) ส่งเสริมและสนับสนุนการรวมกลุ่มขององค์กรเกษตรกร กลุ่มเกษตรกร และยุวเกษตรกรในจังหวัด ในรูปแบบต่างๆ
(๔) เสนอแผนพัฒนาเกษตรกรรมระดับจังหวัดต่อสภาเกษตรกรแห่งชาติเพื่อบูรณาการเป็นแผนแม่บทเสนอต่อคณะรัฐมนตรีต่อไป
(๕) สนับสนุนและส่งเสริมการศึกษา การฝึกอบรม และการถ่ายทอดเทคโนโลยีแก่เกษตรกรและยุวเกษตรกร เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการประกอบอาชีพเกษตรกรรมอย่างครบวงจรและยั่งยืน
(๖) เสนอนโยบายและแนวทางในการพัฒนาและแก้ไขปัญหาที่เกี่ยวข้องกับภาคเกษตรกรรมรวมทั้งราคาผลผลิตทางการเกษตรที่ไม่เป็นธรรมต่อสภาเกษตรกรแห่งชาติ
(๗) ให้คำปรึกษาและข้อแนะนำแก่เกษตรกรหรือองค์กรเกษตรกร
(๘) แต่งตั้งคณะทำงานเพื่อดำเนินการใดๆ ให้บรรลุวัตถุประสงค์ตามพระราชบัญญัตินี้
(๙) ปฏิบัติหน้าที่ตามที่ได้รับมอบหมายจากสภาเกษตรกรแห่งชาติ
อำนาจหน้าที่สำนักงานสภาเกษตรกรแห่งชาติ
มาตรา ๒๐ ให้จัดตั้งสำนักงานสภาเกษตรกรแห่งชาติขึ้นไปเป็นหน่วยงานของรัฐ มีฐานะเป็นนิติบุคคลที่ไม่เป็นส่วนราชการหรือรัฐวิสาหกิจตามกฎหมายว่าด้วยวิธีการงบประมาณหรือกฎหมายอื่นเรียกโดยย่อว่า “สกช.” โดยมีสำนักงานตั้งอยู่ที่กรุงเทพมหานครหรือปริมณฑล มีอำนาจหน้าที่ดังนี้
(๑) รับผิดชอบงานด้านธุรการ และทำหน้าที่เป็นเลขานุการของสภาเกษตรกรแห่งชาติ
(๒) รวบรวม ศึกษา วิจัย พัฒนา และวิเคราะห์ข้อมูลต่างๆ ที่เกี่ยวกับการดำเนินงานของสภาเกษตรกรแห่งชาติ สภาเกษตรกรจังหวัด สำนักงาน และสำนักงานสภาเกษตรกรจังหวัด
(๓) ประชาสัมพันธ์ให้เกษตรกร และองค์กรเกษตรกร ได้รับทราบถึงนโยบาย แผนแม่บท และการดำเนินงานของสภาเกษตรกรแห่งชาติ
(๔) รับขึ้นทะเบียนเกษตรกรและองค์กรเกษตรกร
(๕) จัดให้มีฐานข้อมูลทะเบียนเกษตรกรและองค์กรเกษตรกร ระบบข้อมูลและการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับการเกษตรและกิจการอื่นที่เกี่ยวข้อง ทั้งในด้านการบริหารจัดการ การวิจัย การผลิต การแปรรูป การตลาด และราคาทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ รวมทั้งการใช้ประโยชน์จากข้อมูลสารสนเทศทางภูมิศาสตร์
(๖) ประสานการดำเนินงานกับสภาเกษตรกรจังหวัด และหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้อง
(๗) จัดทำรายงานประจำปีของสภาเกษตรกรแห่งชาติ
(๘) ปฏิบัติหน้าที่อื่นใดตามที่สภาเกษตรกรแห่งชาติมอบหมาย
อำนาจหน้าที่สำนักงานสภาเกษตรกรจังหวัด
มาตรา 38 ให้จัดตั้งสำนักงานสภาเกษตรกรจังหวัดขึ้น เรียกโดยย่อว่า “สกจ” มีอำนาจหน้าที่ดังนี้
(๑) รับผิดชอบงานด้านธุรการ และทำหน้าที่เป็นเลขานุการของสภาเกษตรกรจังหวัด
(๒) รวบรวม ศึกษาและวิเคราะห์ข้อมูลต่างๆที่เกี่ยวกับการดำเนินงานของสภาเกษตรกรจังหวัด
(๓) ประชาสัมพันธ์ให้เกษตรกร และองค์กรเกษตรกร ได้ทราบถึงนโยบาย แผนพัฒนาเกษตรกรรมจังหวัด และการดำเนินงานของสภาเกษตรกรจังหวัด
(๔) จัดให้มีระบบฐานข้อมูลและการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสาร ผลงานการวิจัยและองค์ความรู้เกี่ยวกับการผลิต ผลผลิต การแปรรูป ผลิตภัณฑ์เกษตรกรรม รวมทั้งการตลาดทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ
(๕) ประสานการดำเนินงานกับเกษตรกร องค์กรเกษตรกร และหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้อง
(๖) จัดทำรายงานประจำปีของสภาเกษตรกรจังหวัด
(๗) ปฏิบัติหน้าที่อื่นใดตามที่สภาเกษตรกรแห่งชาติ และสภาเกษตรกรจังหวัดมอบหมาย