สรุปสถานการณ์น้ำและสภาพอากาศจังหวัดลำปาง
ประจำวันที่ 11 ตุลาคม 2560
สภาพอากาศทั่วไป
ประเทศไทยมีฝนตกชุกหนาแน่น กับมีฝนตกหนักหลายพื้นที่และมีลมกระโชกแรงบริเวณภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออก ภาคใต้ฝั่งตะวันตก รวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ขอให้ประชาชนบริเวณดังกล่าวระวังอันตรายจากฝนที่ตกหนักและฝนที่ตกสะสม อาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก และน้ำท่วมขังในที่ราบลุ่มต่อไปอีก 1 วัน ทั้งนี้ หย่อมความกดอากาศต่ำได้เคลื่อนเข้าปกคลุมภาคเหนือของประเทศไทยและประเทศเมียนมา ส่งผลให้ประเทศไทยมีฝนตกชุกหนาแน่น กับมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่งและมีลมกระโชกแรงเกิดขึ้นได้ สำหรับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ยังคงพัดปกคลุมทะเลอันดามันและภาคใต้ ทำให้ภาคใต้ฝั่งตะวันตกมีฝนตกหนักบางแห่ง
ปริมาณฝนสะสม 24 ชั่วโมงของจังหวัดลำปางที่ผ่านมา ณ เวลา 09.00 น.
- ปริมาณฝนสะสมวัดได้สูงสุดที่สถานีบ้านปงถ้ำ อำเภอวังเหนือ วัดได้ 49.00 มิลลิเมตร ซึ่งอยู่ในเกณฑ์ฝนตกปานกลาง
- สถานีบ้านใหม่พัฒนา อำเภองาว วัดได้ 47.00 มิลลิเมตรซึ่งอยู่ในเกณฑ์ฝนตกปานกลาง
- สถานีบ้านหัวน้ำพัฒนา อำเภอเถิน วัดได้ 35.50 มิลลิเมตร ซึ่งอยู่ในเกณฑ์ฝนตกปานกลาง
ระดับน้ำในแม่น้ำวัง ณ เวลา 09.00 น.
- ระดับน้ำในแม่น้ำวัง วัดได้สูงสุดที่ สถานีต้นธงชัย อำเภอเมือง โดยมีระดับน้ำที่ 80.12 เปอร์เซ็นต์ความจุของลำน้ำ สถานการณ์อยู่ในเกณฑ์มีน้ำมาก
- ระดับน้ำในแม่น้ำวัง วัดได้ต่ำที่ ตำบลแม่ถอด อำเภอเถิน โดยมีระดับน้ำที่ 42.78 เปอร์เซ็นต์ความจุของลำน้ำ สถานการณ์อยู่ในเกณฑ์มีน้ำปกติ
อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ 2 แห่งในจังหวัด ณ เวลา 13.00 น.
- เขื่อนกิ่วคอหมา มีปริมาณน้ำกักเก็บอยู่ที่ 185 ล้านลูกบาศก์เมตร (108.86% รนก.) สถานการณ์อยู่ในเกณฑ์สูงกว่าระดับกักเก็บปกติ
- เขื่อนกิ่วลม มีปริมาณน้ำกักเก็บอยู่ที่ 90 ล้านลูกบาศก์เมตร (84.41% รนก.) สถานการณ์อยู่ในเกณฑ์สูงกว่าระดับกักเก็บปกติ
คาดการณ์ฝน
- ช่วงวันที่ 11-12 ต.ค. 60 หย่อมความกดอากาศที่อ่อนกําลังลงจากพายุดีเปรสชั่น “TWENTYTHREE” เคลื่อนตัวเข้าสู่ภาคเหนือของประเทศไทย และจะเคลื่อนตัวผ่านไปยังประเทศพม่า ส่งผลให้ในช่วงวันที่ 11-12 ต.ค. จังหวัดลำปางยังคงมีฝนตกต่อเนื่องและอาจจะมีฝนตกหนักในบางแห่งโดยเฉพาะทางตอนล่างของจังหวัด ขอให้เกษตรกรเฝ้าระวังอันตรายจากฝนที่ตกหนักและฝนที่ตกสะสม อาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก และน้ำท่วมขังในที่ราบลุ่มไว้ด้วย
ผลกระทบต่อการเกษตร
- พืชไร่/ไม้ผล/พืชผัก ในช่วงที่มีฝนตกทำให้ดินและอากาศมีความชื้นสูง เกษตรกรควรดูแลพื้นที่เพาะปลูกให้โปร่งอากาศถ่ายเทได้สะดวก เพื่อลดความชื้นสะสมในแปลงปลูกป้องกันโรคพืชที่เกิดจากเชื้อรา ซึ่งมักระบาดในช่วงที่มีความชื้นสูง
- ปศุสัตว์ สำหรับสภาพอากาศชื้นและมีอากาศเย็นในตอนเช้า อาจทำให้สัตว์เลี้ยงอ่อนแอและติดเชื้อโรคได้ง่าย เกษตรกรควรดูแลสัตว์เลี้ยงให้มีสุขภาพที่สมบูรณ์แข็งแรง จะได้ไม่เจ็บป่วย จัดหาน้ำดื่มที่สะอาดให้กับ สัตว์เลี้ยงอย่างเพียงพอ รวมทั้งให้วัคซีนป้องกันโรคที่จะเกิดในฤดูหนาวให้กับสัตว์ด้วย
- การเก็บเกี่ยวผลผลิตในช่วงนี้ เกษตรกรควรระมัดระวังในการเก็บเกี่ยวเพราะฝนที่ตกอย่างต่อเนื่องในช่วงนี้ อาจจะทำให้เกิดความเสียหายแก่ผลผลิตได้