นิทรรศการถ่ายทอดความรู้ไผ่เพื่อฟื้นฟูป่าและสร้างเศรษฐกิจครอบครัว
สำนักงานสภาเกษตรกรลำปางร่วมกับสำนักงานสภาเกษตรกรแห่งชาติจัดนิทรรศการไผ่เพื่อฟื้นฟูป่าและสร้างเศรษฐกิจครอบครัวแสดงร่วมในงานอุตสาหกรรมเซรามิก 4.0 ในวันที่ 19-23 กุมภาพันธ์ 2561 ณ ศูนย์แสดงและจำหน่ายสินค้าเซรามิกและหัตถอุตสาหกรรม อำเภอเกาะคา จังหวัดลำปาง
ไผ่
คุณลักษณะพิเศษของ "ไผ่"
1.ไผ่โตเร็วสามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้ภายในเวลา ๑ - ๔ ปี และใช้ประโยชน์ได้ทุกส่วน ตั้งแต่รากไผ่เป็นสมุนไพรอย่างหนึ่งที่ใช้เป็นยารักษาโรคได้ หน่อไผ่หรือหน่อไม้ใช้ทำอาหาร กาบหรือใบไผ่ใช้ห่ออาหารหรือหมักปุ๋ย กิ่งและแขนงใช้ทำรั้ว ลำต้นใช้ประโยชน์ได้สารพัดอย่าง ตั้งแต่นำมาใช้ปลูกสร้างที่พักอาศัยและแปรรูปเป็นเครื่องจักสานและเครื่องมือเครื่องใช้นานาชนิดจนถึงนำมาใช้เกี่ยวกับความเชื่อและพิธีกรรมต่างๆ ตั้งแต่เกิดจนตาย
ดังนั้นชาวนาจึงมักปลูกไผ่ตามหัวไร่ปลายนา และปลูกไว้รอบๆบ้าน เพื่อใช้เป็นรั้วบ้านและป้องกันพายุ เพราะไม้ไผ่จะลู่ตามลมไม่หักโค่นเหมือนไม้อื่น หากปลูกไผ่ไว้ตามริมแม่น้ำลำคลอง จะช่วยชะลอความเร็วของกระแสน้ำไม่ให้ดินพัวทะลายง่าย นอกจากนี้ไผ่ยังใช้เป็นอาหารในครัวเรือนได้ด้วย
2. ไผ่มีลำต้นตรงและกลวงคล้ายหลอดและมีปล้องข้อคั่นเป็นปล้องๆ จึงใช้เป็นภาชนะประเภทกระบอก ถ้วย สำหรับใส่ของเหลว เช่นใช้เป็นกระบอกน้ำ กระบอกน้ำตาล ซึ่งใช้กันทั่วไปในหลายประเทศ ลักษณะพิเศษของไม้ไผ่นี้สามารถนำมาใช้สร้างอาคารที่พักอาศัยได้ โดยนำมาทำเป็นโครงสร้างของบ้านเรือน ใช้เป็นพื้นเรือน ฝาเรือน ใช้ทำรางน้ำ ท่อน้ำ และทำเครื่องดนตรีประเภทขลุ่ยได้ดีอีกด้วย
3. เนื้อไผ่เป็นเส้นตรงมีความยืดหยุ่นในตัวเองและสามารถคืนตัวสู่สภาพเดิมได้ เมื่อนำไม้ไผ่มาแปรรูปก็จะสามารถใช้ประโยชน์ได้ดี เพราะเนื้อไม้ไผ่เป็นเส้นตรง นำมาจักเป็นปื้นบางๆ หรือเหลาเป็นเส้นได้ดี จึงใช้ทำเครื่องจักสานนานาชนิดได้ ทั้งเครื่องจักสานที่มีขนาดใหญ่ แข็งแรงมั่นคง สำหรับใช้งานหนักจนถึงเครื่องจักสานขนาดเล็กที่มีความประณีตบอบบาง และเพราะคุณสมบัติในที่มีความยืดหยุ่น จึงเหมาะที่จะใช้เป็นเครื่องหาบหรือหาม เช่น คาน คันกระสุน คันธนูและเมื่อแปรรูปเป็นตอกก็ยังมีความยืดหยุ่นคืนรูปทรงเดิมได้ง่ายจึงทำให้ภาชนะจักสานที่ทำจากไผ่มีคุณลักษณะพิเศษต่างไปจากภาชนะที่ทำจากวัตถุดิบชนิดอื่น
4.ไม้ไผ่มีความสวยงามในตัวเอง ไม่ว่าจะเป็นผิวที่มีสีต่างๆ กันเมื่อแห้งแล้วมักจะมีสีเหลืองอยู่เช่นนั้นตลอดไป ด้วยคุณสมบัติพิเศษนี้ ชาวเอเชียจึงใช้เหล็กหรือโลหะเผาไฟจนร้อนแล้วเขียนตัวอักษรหรือลวดลายลงบนผิวไม้ไผ่ ( Bamboo Pyrographic ) เช่นจีนจารึกบทกวีบนผิวไม้ไผ่ ชาวญี่ปุ่นใช้เขียนชื่อเจ้าของบ้านแขวนไว้หน้าบ้านและจารึกบทกวีแขวนไว้สองข้างประตูเรือนน้ำชา ( Tea House ) ชาวเกาหลีใช้เขียนเป็นลวดลายบนเครื่องใช้ เช่นเดียวกับที่ชาวบาตัก ( Batak) ในประเทศอินโดนีเซีย ใช้เหล็กเผาไฟ ขูด ขีด เขียน ลงบนกระบอกไม้ไผ่ สำหรับเก็บยาหรือทำเป็นปฏิทิน ในขณะที่ชาวบาหลีใช้จารลงบนผิวไผ่เป็นแผ่นๆ เพื่อใช้เป็นคัมภีร์ในศาสนาตน นอกจากไม้ไผ่จะมีผิวสวยแล้ว เนื้อไผ่ยังมีลักษณะพิเศษต่างจากเนื้อไม้อื่นคือ มีเสี้ยนยาวขนานกันเป็นเส้น จึงแปรรูปเป็นเส้น เป็นปื้น หรือเหลาให้กลมได้ง่าย และเมื่อแก่เต็มที่แล้วจะเป็นเส้นละเอียดแข็ง มอดแมลงไม่กินจนมีผู้กล่าวว่า เครื่องจักสานไม้ไผ่นั้น ผู้สานสามารถสานให้เป็นรูปทรงแปลกๆ แตกต่างกันได้มากมาย จนเครื่องจักสานบางชิ้นมีรูปทรงและผิวสวยงามดุจงานประติมากรรมสมัยใหม่ทีเดียว
ไผ่เพื่อพลังงาน
ไผ่” พืชพลังงาน อนาคตสดใส
“ไผ่” นับเป็นพืชมหัศจรรย์ สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจได้อย่างมาก เนื่องจากไม้ไผ่เป็นพืชพลังงานที่เติบโตเร็วที่สุดในโลก ตอบโจทย์ในเรื่องพลังงานทดแทนได้อย่างดี แค่ปลูกไผ่สัก 5 ล้านไร่ ประเทศไทยจะไม่ขาดแคลนไฟฟ้า แถมยังมีประโยชน์ด้านอื่นๆ ตามมาอีกมากมาย
ถ่านไม้ไผ่คุณภาพสูงที่ได้จากการเผา ที่อุณหภูมิ 1,000 องศาเซลเซียส ขึ้นไป ด้วยเตาเผาถ่านที่มีประสิทธิภาพ จะมีความสามารถสูงในการดูดซับกลิ่น ความชื้น สารพิษ สารเคมี ช่วยฟอกอากาศ กำจัดแบคทีเรีย ช่วยปลดปล่อยประจุลบ และอินฟราเรดคลื่นยาว ช่วยดูดซับรังสี ทำให้ระบบไหลเวียนของเลือดดีขึ้น มีผลให้จิตใจแจ่มใส เบิกบาน ใช้ทำผลิตภัณฑ์สุขภาพนานาชนิด
พลังงานเชื้อเพลิงจากไผ่
ถ่านกัมมันต์ (activated carbon) เป็นวัสดุคาร์บอนที่มีพื้นที่ผิวสูงมาก เนื่องจากมีรูพรุนจำนวนมหาศาล มีความสามารถในการดูดซับคาร์บอนและไนโตรเจนได้สูงมาก ผงคาร์บอนที่ผลิตได้จากถ่านไม้ไผ่เมื่อนำมาผสมกับดิน ช่วยปรับปรุงบำรุงดินแล้ว ยังมีความสามารถในการดูดซับไนตรัสออกไซด์ ซึ่งเป็นก๊าซที่ไปทำลายชั้นโอโซนที่เป็นเกราะป้องกันรังสีอัลตราไวโอเลตของโลกมากที่สุดอีกด้วย นอกจากนี้ ถ่านไม้ไผ่ยังถูกนำมาใช้เป็นองค์ประกอบในอุตสาหกรรมต่างๆ อีกมากมาย เช่น อุตสาหกรรมยา-เครื่องสำอาง ใช้ทำไส้กรองน้ำ ไส้กรองอากาศ ใช้ปรับปรุงบำรุงดิน และใช้ในการบำบัดน้ำเสีย เป็นต้น
ปัจจุบัน ทั่วโลกมีความต้องการใช้ “ถ่านกัมมันต์จากไม้ไผ่” อย่างแพร่หลาย เพราะถ่านกัมมันต์จากไม้ไผ่มีคุณสมบัติเด่นในหลายด้าน สามารถนำไปแปรรูปเป็นสิ่งของเครื่องใช้ต่างๆ เป็นจำนวนมาก สามารถส่งออกสร้างรายได้อย่างไม่มีขีดจำกัด สายพันธุ์ไผ่ที่เหมาะสำหรับผลิตถ่านกัมมันต์ ได้แก่ ไผ่พันธุ์กิมซุ่ง พันธุ์ซางหม่น ฯลฯ
การปลูกไผ่ ส่งผลดีต่อสภาพแวดล้อม เพราะไผ่เป็นพืชตระกูลหญ้าที่มีขนาดลำต้นใหญ่โต ให้น้ำหนักชีวมวลต่อไร่ในระยะเวลาที่เท่ากันสูงกว่าพืชชนิดอื่น เป็นพืชที่มีอัตราการเจริญเติบโตอย่างรวดเร็ว สามารถปรับตัวให้เข้ากับสภาพแวดล้อมเกือบทุกพื้นที่ของประเทศไทยได้เป็นอย่างดีไผ่ จึงเป็นทางเลือกหนึ่งในการปลูกเป็นพืชพลังงานทดแทนของโลกต่อไปในอนาคต เพราะทุกส่วนของต้นไผ่ประกอบด้วยเซลลูโลส เหมาะสำหรับใช้เป็นพลังงานชีวมวล สำหรับพันธุ์ไผ่ที่ให้ปริมาณชีวมวลในปริมาณมาก ได้แก่ พันธุ์กิมซุ่ง ตงลืมแล้ง ซางหม่น และวะโซ่ ฯลฯ ไผ่กลุ่มนี้เหมาะสำหรับผลิตเชื้อเพลิงพลังงานทดแทน เช่น สกัดเป็นน้ำมันดิบ นำต้นไผ่สดบดเป็นผงเพื่อนำไปหมักจะได้ก๊าซชีวภาพ (มีเทน) ที่มีค่าพลังงานสูงมาก ผลิตเม็ดพลังงานแห้งซึ่งโรงไฟฟ้าชีวมวลทั้งในและต่างประเทศมีความต้องการสูง รวมทั้งแปรรูปเป็นถ่านไม้ไผ่ที่มีคุณภาพสูง เป็นต้น
ปัจจุบันเชื้อเพลิงจากธรรมชาติใต้ดินมีราคาสูงขึ้นอย่างมาก และเชื้อเพลิงจากแหล่งอื่นๆ มีต้นทุนที่สูงยากต่อการลงทุน ดังนั้น เชื้อเพลิงชีวมวลอัดเม็ด จากพืชกำลังเป็นที่ต้องการของตลาดโลกเป็นอย่างมาก นิยมใช้ผลิตความร้อนตามบ้านเรือนในประเทศเขตหนาว ใช้ในการผลิตไฟฟ้า สำหรับโรงไฟฟ้า หรือโรงงานอุตสาหกรรมต่างๆเชื้อเพลิงชีวมวลอัดเม็ด มีจุดเด่นสำคัญคือ ให้ความร้อนสูงกว่าชีวมวลอย่างอื่น ขนส่งได้สะดวกเนื่องจากมีความหนาแน่นมาก มีเถ้าน้อย รวมทั้งส่งผลเสียต่อสิ่งแวดล้อมน้อยมาก โดยเฉพาะเม็ดเชื้อเพลิงชีวมวลที่ผลิตจากไม้ไผ่ เพราะไผ่เป็นพืชที่มีการเจริญเติบโตอย่างรวดเร็ว สามารถปรับตัวเข้ากับสภาพแวดล้อมของประเทศไทยได้อย่างดี อีกทั้งมีพันธุ์ไผ่จำนวนมากมาย สามารถเลือกให้เหมาะสมกับในแต่ละสภาพพื้นที่ได้
ไผ่ ที่ตัดนำไปใช้ประโยชน์ ควรเลือกลำไผ่แก่ อายุ 2-3 ปี ส่วนลำอ่อนและหน่อไม้ที่เกิดใหม่จะปล่อยไว้เลี้ยงกอต่อไป สามารถตัดหมุนเวียนได้ทุกปีตลอดไปจนกว่าต้นไผ่จะออกดอกตายขุย อีกทั้งไผ่ยังเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมช่วยลดปัญหาโลกร้อนได้เป็นอย่างดี ช่วยชะลอการกัดเซาะพังทลายของหน้าดินและตลิ่งริมน้ำได้อีกด้วยขณะเดียวกัน ไผ่ จัดอยู่ในกลุ่มสินค้าสีเขียวเป็นมิตรของธรรมชาติ (Eco-friendly) เพราะไผ่ให้ออกซิเจนในปริมาณสูงมากกว่าต้นไม้ถึง 35 เปอร์เซ็นต์ ไม่จำเป็นต้องใช้สารเคมี ใช้เพียงปุ๋ยและน้ำ ไผ่จะจัดสมดุลออกซิเจนและคาร์บอนไดออกไซด์ในชั้นบรรยากาศได้ดีที่สุด
ไผ่เพื่อยารักษาและเวชสำอาง ไผ่เพื่ออุตสาหกรรม
ไผ่เพื่อสิ่งแวดล้อม
ไผ่เพื่อเครื่องนุ่งห่ม
ไผ่เพื่อที่อยู่อาศัย
ไผ่เพื่ออาหาร
บรรยากาศบริเวณพื้นที่บูธของสำนักงานสภาเกษตรกร